กินยาคุมอยู่ จะฉีดวัคซีน COVID-19ได้ไหม? ต้องหยุดกินยาคุม ก่อนฉีดวัคซีนโควิดหรือไม่? คุณสาวๆคงอยากรู้ วันนี้เรามาคุยเรื่องนี้กันครับ
จากข่าวดังของน้องผู้หญิงคนหนึ่งที่กินยาคุมกำเนิดอยู่แล้วไปฉีดวัคซีนโควิด จากนั้นมีอาการหน้ามืดแล้วเสียชีวิตในอีก 2-3 สัปดาห์ต่อมาจากลิ่มเลือดอุดตันในปอด ทำให้เกิดข้อสงสัยในประเด็นที่ว่า วัคซีนโควิด และยาคุมชนิดกิน มีความเกี่ยวข้องกับการเสียชีวิตจากลิ่มเลือดอุดตันอย่างไร และหากเรากินยาคุมอยู่ เราจะฉีดวัคซีนได้ไหม หรือต้องหยุดยาคุมไหม ทำยังไงดี ก่อนอื่นขอให้เพื่อนๆใจเย็นๆก่อนนะครับ เรามาค่อยๆคุยเรื่องนี้กันแบบเข้าใจง่ายๆกันดีกว่า
ยาคุมกาเนิดมีกี่ชนิด ออกฤทธิ์ต่างกันยังไง
ก่อนอื่นเรามารู้จักยาคุมกำเนิดกันก่อน ยาคุมกำเนิดมี 3 ชนิดหลักๆคือ
1. ยาคุมชนิดกิน มีหลายแบบ แต่ส่วนใหญ่จะเป็นชนิดผสมระหว่างฮอร์โมนเอสโตรเจน (estrogen) และโปรเจสเตอโรน (progesterone)
2. ยาคุมชนิดฉีด แบบที่นิยมสุดจะเป็นแบบฉีดทุก 3 เดือน ซึ่งเป็นฮอร์โมนโปรเจนเตอโรนล้วนๆ
3. ยาคุมชนิดฝัง เป็นฮอร์โมนโปรเจสเตอโรนอย่างเดียวเหมือนยาคุมฉีด
เพิ่มความเสี่ยงการเกิดลิ่มเลือด แต่พบได้น้อยมากในคนไทย
ไม่เพิ่มความเสี่ยงการเกิดลิ่มเลือด
ไม่เพิ่มความเสี่ยงการเกิดลิ่มเลือด
ยาคุมกาเนิดส่งผลต่อการเกิดลิ่มเลือดหรือไม่
ตอนนี้เรารู้จักยาคุมแล้วว่ามี 3 ชนิด แล้วชนิดไหนบ้างที่เพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดลิ่มเลือด คำตอบก็คือ ยาคุมชนิดกินเท่านั้น โดยตัวที่ทำให้เกิดคือฮอร์โมนเอสโตรเจนนั่นเอง แต่ความเสี่ยงมีไม่มากนะครับ และก็โชคดีที่พบน้อยมากในหญิงไทยอีกด้วย โดยพบประมาณ 500-1200 คนต่อผู้หญิงที่กินยาคุม 1 ล้านคน ซึ่งหากเปรียบเทียบกับความเสี่ยงของตัววัคซีนโควิดเอง พบว่าวัคซีนโควิดทำให้เกิดลิ่มเลือดน้อยกว่ามาก คือพบเพียง 2.5 คนใน 1 ล้านคนเท่านั้น และยิ่งพบน้อยมากในผู้ที่ได้รับวัคซีนชิโนแวค คือเพียง 7 รายจากการฉีดมากกว่า 200 ล้านโดส (0.035 รายต่อ 1 ล้านโดส)
พูดแบบนี้เพื่อนๆคงยังงงอยู่ว่ามันมากหรือน้อยยังไง ผมขอเทียบกับเปอร์เซ็นต์ของการถูกหวยรางวัลที่ 1 คือ 1 ใบจาก 1ล้านใบ หรือพูดง่ายๆว่า 1 ในล้าน ดังนั้นจะเห็นว่าความเสี่ยงของวัคซีนในการทำให้เกิดลิ่มเลือดไม่ได้มากเลย ยิ่งซิโนแวคด้วยแล้วการเกิดน้อยกว่าการถูกหวยรางวัลที่ 1 อีก เพื่อนๆเคยถูกหวยรางวัลที่ 1 กันบ้างไหมครับ (^_^)
การเกิดลิ่มเลือดอุดตันในปอดที่มีสาเหตุจากการฉีดวัคซีนโควิดซิโนแวคมีน้อยมากๆเลยครับ ถูกหวยรางวัลที่หนึ่งยังง่ายกว่าอีก
ลิ่มเลือดอุดตันในปอดคืออะไร ?
ลิ่มเลือดอุดตันในปอด (pulmonary embolism) ส่วนใหญ่จะเกิดจากการเกิดลิ่มเลือดที่ขาก่อน (DVT, Deep Vein Thrombosis) แล้วลิ่มเลือดนั้นหลุดไปอุดตันที่ปอด หากเป็นแบบเฉียบพลันจะทำให้การฟอกเลือดของปอดผิดปกติ จึงเกิดอาการหอบเหนื่อย วูบ เป็นลมหมดสติได้ แต่ไม่ใช่ทุกคนจะเสียชีวิตทั้งหมดนะครับ เพราะหากวินิจฉัยและรักษาได้เร็ว ก็มีโอกาสหายได้ครับ
ลิ่มเลือดจากเส้นเลือดดำที่ขา หลุดลอยไปอุดตันในหลอดเลือดดำของปอด
อะไรบ้างที่เพิ่มความเสี่ยงต่อการการลิ่มเลือดอุดตัน ?
จริงๆแล้วไม่ใช่แค่ยาคุมกำเนิดชนิดกินนะครับที่ทำให้เกิดลิ่มเลือดอุดตัน ยังมีสาเหตุอีกหลายประการเลย ยกตัวอย่างเช่น
สูบบุหรี่ (cigarette smoking) จริงๆแล้วเป็นความเสี่ยงทีมากกว่ายาคุมอีกนะครับ ดังนั้นต้องรีบเลิกบุหรี่นะ
ภาะวะที่ร่างกายไม่ได้เคลื่อนไหวเป็นเวลานาน (immobilization) เช่น การนั่งเครื่องบินเป็นเวลานาน หรือการนอนบนเดียงเป็นเวลานาน เช่นเข้าเฝือก หลังผ่าตัด หรือเจ็บป่วยเรื้อรัง
โรคเรื้อรังบางอย่าง เช่นโรคมะเร็ง โรคอ้วน เป็นต้น
การตั้งครรภ์ก็มีความเสี่ยงนะครับ
จริงๆแล้วยังมีอีกหลายปัจจัยเสี่ยง รวมถึงกรรมพันธุ์ด้วยนะ ไว้ว่างๆหากเพื่อนๆอยากรู้แบบละเอียดผมจะมาเล่าให้ฟังเพิ่มครับ
ลิ่มเลือดอุดตันในปอด ตรวจได้ชัดเจนจากการทำคอมพิวเตอร์ปอดครับ
Obstet Gynecol Sci. 2013 Jul; 56(4): 273–276.
ก่อนฉีดวัคซีนโควิดต้องหยุดยาคุมชนิดกินไหม
คำถามนี้ มีหลายสมาคมได้ออกมายืนยันไปในทางเดียงกันนะครับ ว่าไม่ต้องหยุดกินยาคุมก่อนฉีดวัคซีนโควิด-19 เพราะข้อมูลยังไม่บ่งชี้ว่ามีความสัมพันธ์กันแต่อย่างใด อย่างไรก็ตามประกาศราชวิทยาลัยสูตินารีแพทย์แห่งประเทศไทย ก็ยังมีอีกทางออกให้กับคนที่ไม่สบายใจ คือหากเราต้องการหยุดกินยาคุม เราก็สามารถหยุดได้โดยใช้วิธีการอื่นๆมาทดแทนเพื่อป้องกันการตั้งครรภ์ เช่น การใช้ถุงยางอนามัย เป็นต้นครับ
สรุปคำแนะนำสำหรับผู้ที่กินยาคุมอยู่และต้องการฉีดวัคซีน COVID-19
ไม่จำเป็นต้องหยุดกินยาคุมก่อนฉีดวัคซีนโควิด
หากจะหยุดกินยาคุม แนะนำใช้การคุมกำเนิดวิธีอื่นแทน
หยุดบุหรี่ หรือเลิกไปเลยก็ดีนะครับ
ดื่มน้ำเยอะๆเพื่อป้องกันภาวะขาดน้ำ (dehydration) รวมถึงงดชา และ กาแฟ เพราะทำให้ปัสสาวะบ่อย อาจขาดน้ำได้ง่าย
ไม่นั่งเฉยๆเป็นเวลานาน แนะนำให้ลุกเดินบ่อยๆ
งดกินยาหรือสมุนไพรอื่นๆที่ไม่จำเป็น
หากมีอาการผิดปกติ เช่นวูบ เป็นลม หอบเหนื่อย หรือแน่นหน้าอก ให้รีบพบแพทย์
หวังว่าคลิปนี้จะเป็นประโยชน์กับเพื่อนๆบ้างนะครับ ฝากกดติดตามช่อง DRK Channel เพื่อเป็นกำลังใจให้ผมด้วยนะครับ กดตามลิงค์นี้เลย พบกันใหม่คลิปหน้า สวัสดีครับ
https://www.youtube.com/channel/UCF3iOWwldQehnS5v7t6a9Rw/SeattleWebSearch?sub_confirmation=1
หมอเต้ | DRK Channel
นายแพทย์ กิจจา จำปาศรี | Kitcha Champari, M.D. #doctorkitcha